ฟันคุดคืออะไร มาทำความรู้จักฟันคุด พร้อมแนะนำแนวทางการรักษาเบื้องต้น

2453

ฟันคุดคืออะไร มาทำความรู้จักฟันคุด พร้อมแนะนำแนวทางการรักษาเบื้องต้น

รู้จัก “ฟันคุด

เมื่อพูดถึงปัญหาช่องปาก “ฟันคุด” ถือว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความทุกข์และความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ประสบเป็นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะว่าใครที่มีฟันคุดขึ้นแล้วจะมีอาการปวด ซึ่งอาการปวดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ที่แน่นอนคืออาการปวดเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติของบุคคลนั้น ๆ

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด คือฟันที่ขึ้นอย่างผิดปกติในช่องปาก บางซี่โผล่ขึ้นมาบางส่วน บางซี่จมอยู่ในกระดูกขากรรไกร ลักษณะการขึ้นของฟันคุดอาจมีลักษณะตั้งตรง เอียง ตะแคง ขวาง หรือขึ้นนอกแนวระนาบ แต่ฟันคุดทุกซี่ที่ขึ้นจะอยู่ชิดและดันฟันซี่ข้างเคียงเสมอ

ฟันคุดมักมีขนาดและรูปร่างที่ผิดปกติ อย่างเช่น รากฟันงอโค้ง มีรากยาวมากกว่าปกติหรือรากฟันโต พบได้บ่อยบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้ายทั้งซ้ายและขวา

ฟันคุดมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 – 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้ทั้งหมดกำลังขึ้นอย่างเต็มที่ โดยปกติฟันกรามซี่สุดท้ายบนจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ฟันกรามซี่ล่างหากขึ้นแล้วมักจะมาพร้อมกับอาการปวด

ผลเสียของฟันคุด

  1. ทำให้เกิดอาการปวดมากและอาจรุนแรง
  2. อาจทำให้เหงือกเกิดการอักเสบ ปวดบวม เป็นหนอง
  3. ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย เพราะรากฟันและเส้นประสาทมีความเชื่อมโยงกัน ฟันคุดอาจไปกดทับเส้นประสาท
  4. ทำให้เกิดการดันฟันซี่ที่อยู่ด้านข้าง อาจทำให้ฟันโยกหรือฟันหักได้

ใครที่กำลังมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมานี้ วิธีการที่ดีที่สุดคือการถอนหรือผ่าตัดในกรณีที่ฟันคุดไม่โผล่ เพราะการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้มีผลเสียต่อสุขภาพของคุณมากกว่าผลดีหลายประการ…

สาเหตุสำคัญของการเกิดฟันคุด

          ฟันคุดเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีอาการปวดมากและสร้างความหนักใจให้กับผู้ที่ประสบ ฟันคุดมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 17 – 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นและเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นสมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว แต่ฟันคุดไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ดังนั้นวันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงสาเหตุสำคัญที่แท้จริงของการเกิดฟันคุด

การเกิดฟันคุดมีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยต่อไปนี้

โครงสร้างกระดูกขากรรไกร

โครงสร้างกระดูกขากรรไกรของแต่ละคนมีขนาด ความกว้างและความยาวไม่เท่ากัน จึงส่งผลต่อการขึ้นของฟันที่แตกต่างกันไปด้วย ในผู้ที่มีฟันคุดขึ้น ลักษณะของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรจะมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันกรามซี่สุดท้ายทั้งซ้ายและขวาขึ้นได้อย่างปกติ จึงทำให้ฟันขึ้นผิดรูป ขึ้นในลักษณะแนวนอน ตะแคง เอียง โค้งงอ ในบางคนอาจฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ไม่โผล่พ้นออกมา

ลักษณะของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่มักเกิดฟันคุดขึ้น คือบุคคลที่มีลักษณะหน้ารูปไข้ ซึ่งโครงสร้างกระดูกขากรรไกรจะเรียวมน แต่มีพื้นที่ภายในไม่เพียงพอให้ฟันกรามซี่สุดท้ายขึ้น ส่วนโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่มักไม่พบการเกิดขึ้นของฟันคุด คือคนที่มีกระดูกขากรรไกรล่างกว้างแบบคางเหลี่ยม คางล่างยาวและยื่น

ดังนั้นการเกิดฟันคุดจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดหรือการงอกขึ้นมาได้ เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างใบหน้าและกระดูกขากรรไกรของแต่ละคนที่มีมาตั้งแต่เกิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้คือการรักษาช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอเพราะจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับช่องปากของเราได้ดีที่สุด…

คำถามโลกแตก มีฟันคุดจะผ่าออกตอนไหนดี

ฟันคุด ปัญหาของหลาย ๆ คนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของเราได้ แค่ฟันเพียงไม่กี่ซี่เท่านั้น สาเหตุก็เพราะว่าฟันคุดนั้น มีอาการของการเกิดที่ไม่เหมือนกันในแต่ละราย บางรายมีฟันคุดขึ้นจนแก่ตายไปพร้อมกับเจ้าของฟันโดยที่ไม่มีการผ่าออกก็มี หรือบางรายแค่ฟันคุดโผล่ออกมาก็มีอาการปวดฟันมากมายเข้าเสียแล้ว หลายคนจึงมักมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า เมื่อไหร่ที่ควรจะผ่าฟันคุดออก

หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่า ให้ผ่าฟันคุดออกเมื่อรู้สึกเจ็บ ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะฟันคุดนั้นอาจเป็นตัวการทำให้เกิดฟันผุได้ ซึ่งเมื่อเรารู้ตัวอีกทีเราอาจจะต้องเสียฟันดี ๆ ไปแล้วก็เป็นได้ เพราะบางทีฟันคุดที่ขึ้นผิดทิศทางและไปเบียดฟันอื่น ๆ นั้น มักจะไม่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเสมอไป แต่ปัญหาก็คือเจ้าฟันคุดเหล่านั้นจะไปดันฟันอื่น ๆ และเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและเศษอาหารทำให้บริเวณนั้นเกิดฟันผุขึ้น

แน่นอนว่าในท้ายที่สุดฟันคุดก็ย่อมต้องถูกผ่าออกอยู่ดีเมื่อตรวจพบว่ามีอาการฟันผุ ดังนั้นทางที่ดีการที่จะผ่าฟันคุดออกเมื่อไหร่นั้น ควรหมั่นตรวจสอบช่องปากด้วยตนเองเป็นประจำ และดูทิศทางของฟันคุดว่ามีการไปเบียดบังฟันอื่น ๆ หรือไม่ หรือหากมีอาการปวดฟันก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจดูโดยเร็ว ก่อนที่ฟันซี่อื่น ๆ จะเสียหายเพราะเจ้าฟันคุดตัวดีนี้

ทำไมต้องรักษาฟันคุด

ฟันคุดเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อฟันคุดเกิดขึ้นกับใครแล้ว จะมีอาการปวดและทรมาน ซึ่งอาการปวดเหล่านั้นการรับประทานยาแก้ปวดอาจช่วยได้บ้าง แต่ไม่ทุกครั้งเสมอไป ดังนั้นแทบทุกรายเมื่อมีฟันคุดขึ้น ต้องเข้ารับการรักษา

จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการรักษาฟันคุดตามที่เราเคยเข้าใจ แต่มีใครรู้บ้างหรือไม่ว่า จะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับเรามากแค่ไหนหากเราไม่รักษาฟันคุด

จุดประสงค์ของการรักษาฟันคุด

ฟันคุดเมื่องอกขึ้นแล้ว ทำให้ปวดช่องปาก ปวดฟัน อาจปวดร้าวไปทั้งใบหน้าหรือในบางคนอาจปวดศีรษะ ซึ่งนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเข้ารับการรักษา แต่ในความเป็นจริงผลกระทบจากฟันคุดยังมีอีกหลายประการ ดังนี้

  1. ฟันที่ขึ้นผิดรูปทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก

เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป อาจทำให้เศษอาหารไปติดอยู่ตามซอกฟัน ซอกเหงือก ไม่สามารถทำความสะอาดได้ส่งผลให้เหงือกเกิดการอักเสบ ปวด บวมและเป็นหนอง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาการอักเสบอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้

  1. รากฟันและเส้นประสาทสัมพันธ์กัน

เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับฟัน เป็นเส้นประสาทที่ทอดยาวตามแนวขากรรไกร อยู่ลึกลงไปใต้รากฟัน ซึ่งจะมีเส้นประสาทเส้นเล็ก ๆ เชื่อมต่อกับรากฟันอีกที กรณีที่เป็นฟันซี่ปกติจะไม่มีผลกระทบกับเส้นประสาทเส้นนี้ แต่ถ้าเป็นกรณีฟันคุดที่ขึ้นผิดรูปหรือขึ้นแต่ไม่โผล่พ้นเหงือกจะลงไปกดทับเส้นประสาทซึ่งมีผลต่อการรับรู้ความรู้สึก

  1. ลดแรงดันที่ฟันคุดมีต่อฟันซี่อื่น ๆ

เนื่องจากฟันคุดมักขึ้นผิดรูปและโดยปกติจะขึ้นเสียดสีหรือดันฟันซี่อื่น ทำให้เกิดอาการปวดมาก

ดังนั้นการรักษาฟันคุดจึงมีความจำเป็นต้องทำเพราะผลกระทบไม่ได้มีแต่อาการปวด แต่ยังมีผลร้ายอื่น ๆ ตามมาอีกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในช่องปากของเราได้…

ปวดฟันคุดและวิธีการบรรเทา

ฟันคุด เกิดขึ้นจากฟันที่ขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวด ในบางรายอาจปวดน้อย แต่บางรายอาจปวดมากจนเป็นทุกข์ ทรมาน และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของบุคคลนั้น ๆ การรักษาเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในช่วงที่รอเข้ารับการรักษาเราอาจต้องหาวิธีการเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟันคุด เพื่อไม่ให้อาการปวดเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากจนเกินไป

อาการปวดฟันคุด

ปวดหรือปวดมาก อาจปวดร้าวไปทั้งใบหน้า ใต้คาง แก้ม รวมทั้งอาจปวดศีรษะได้

วิธีการบรรเทาอาการปวดฟันคุด

          การบรรเทาอาการปวดฟันคุดมีหลายวิธี คือ

  1. ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวดฟัน ประมาณ 10 – 15 นาที โดยประคบทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งความเย็นจะช่วยลดอาการปวดฟันได้
  2. งดอาหารที่ทำให้อาการปวดฟันมีเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารร้อนจัด เย็นจัดและหวานจัด หรืออาจเป็นอาหารที่มีความแข็ง อย่างเช่น แอปเปิ้ล จำเป็นต้องใช้ฟันกัด ขณะรับประทานอาจไปถูกฟันคุด ทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้
  3. ใช้สมุนไพรลดอาการปวด

สมุนไพรบ้านเรามีหลายชนิดที่สามารถลดอาการปวดฟันได้ อย่างเช่น

  1. น้ำมันละหุ่ง มีสรรพคุณในการระงับอาการปวด ทาน้ำมันละหุ่งบริเวณแก้มข้างที่ปวดฟัน ปิดทับด้วยพลาสเตอร์ยา ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  2. ว่านหางจระเข้ ช่วยฆ่าเชื้อโรค หั่นเอาเนื้อใส ๆ ของว่านห่างจระเข้เหน็บไว้ที่ซอกฟัน สามารถบรรเทาอาการปวดได้
  3. น้ำมันกระเทียม คั้นเอาน้ำมันออกมา ใช้สำลีชุบทาบริเวณที่ปวด

วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ง่าย สามารถช่วยให้เราบรรเทาอาการปวดฟันคุดได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาความสะอาดในช่องปากไม่ให้มีเชื้อแบคทีเรีย เพราะเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตัวเร่งให้เหงือกของเรายิ่งอักเสบและปวดบวมเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง